วันอังคารที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2552

การเลี้ยงไก่ไข่ ระบบ EVAP


ระบบ EVAP

ระบบ EVAP คือ การระบายอากาศประเภทหนึ่ง ที่เน้นการใช้ประโยชน์ จากความเร็วลมร่วมกับการระเหยของน้ำเพื่อให้อุณหภูมิของอากาศลดลง หรือเรียกว่า ระบบปรับอากาศแบบแผงระเหยไอเย็น (Evaporative cooling pads system) เป็นระบบที่เหมาะกับสภาพอากาศที่มีอุณหภูมิสูง

หลักการทำงานของระบบ EVAP คือการแลกเปลี่ยนของอากาศที่อยู่บริเวณโดยรอบไหลมาผ่านแผงระเหยน้ำ (Cooling pads) ซึ่งมีลักษณะเปียกชื้น มีพื้นที่สัมผัสอากาศมากและอากาศไหลผ่านได้ดี น้ำที่เกาะตามผิวของแผ่น Cooling pads จึงเกิดการระเหย ทำให้อากาศมีอุณหภูมิลดลง ความรู้สึกจะเย็นสบาย
Cooling pads เป็นหัวใจของระบบ EVAP ผลิตจากวัสดุที่เป็นเยื่อไม้จากธรรมชาติเคลือบสารชนิดพิเศษที่ดูดซับน้ำได้รวดเร็ว และไม่เปื่อยยุ่ย สามารถกระจายน้ำไปทั่วทุกผื้นผิวได้อย่างรวดเร็วและสม่ำเสมอ และยังออกแบบร่องอากาศให้มีความลาดเอียง เพื่อช่วยให้น้ำที่เหลือจากการระเหยไหลลงมาชำระล้างฝุ่นและสิ่งสกปรกออกจากพื้นผิว จึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการกรองฝุ่นละอองที่ปะปนในอากาศภายนอก ระบบจะทำงานได้เต็มประสิทธิภาพต้องดูแลรักษาความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ

การพัฒนาโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่มาเป็นระบบอีแวป (EVAP)

สภาวะที่เหมาะสมกับการเลี้ยงสัตว์อยู่ที่อุณหภูมิและความชื้น โดยกิจกรรมที่เกิดขึ้นในตัวสัตว์จะทำให้เกิดความร้อน สัตว์จึงจำเป็นต้องถ่ายเทความร้อนจากตัวของมันออกมาทางผิวหนังในส่วนต่างๆของร่างกาย เนื่องจากไก่ไข่ไม่มีต่อมเหงื่อ การถ่ายเทความร้อนจะมีประสิทธิภาพดี เมื่ออุณหภูมิภายนอกร่างกายสัตว์สูงไม่เกิน 26.7 องศาเซลเซียส ถ้าข้างนอกร้อน ข้างในตัวสัตว์ก็ร้อน การถ่ายเทความร้อนทำได้ยากขึ้น ดังนั้นในไก่ไข่ที่อยู่ในที่ที่มีอากาศร้อนไก่ไข่จะมีกระบวนการถ่ายเทความร้อนออกจากร่างกายด้วยการอ้าปากหายใจ ซึ่งแสดงว่ามีปัญหาในการระบายความร้อน ความเครียดในตัวสัตว์นั้นก็จะเกิดขึ้นตามมา เป็นความเครียดที่เกิดจากความร้อน ดังนั้นการควบคุมการไก่ไข่ให้มีระบบสุขอนามัยที่ดี ปลอดจากความเครียดดังกล่าว จึงเป็นแนวคิดหลักในการพัฒนาระบบโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่จากโรงเรือนระบบเดิมที่เป็นระบบเปิด มาเป็นระบบ EVAP

ข้อดีของการทำโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ในระบบ EVAP

1. สามารถป้องกันโรคระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. สามารถเพิ่มจำนวนไก่ต่อหนึ่งหน่วยพื้นที่ โดยสามารถเลี้ยงไก่ได้ประมาณ 15 ตัวต่อตารางเมตร (จากปกติ 8-9 ตัวต่อตารางเมตร)
3. อัตราการเติปโตดีขึ้น
4. น้ำหนักเฉลี่ยต่อตัวสูงกว่าการเลี้ยงในโรงเรือนแบบเปิด ในระยะเวลาเท่ากัน
5. อัตราการตายต่ำ
6. สามารถป้องกันแมลงและศัตรูที่มารบกวนได้
7. สามารถจัดการให้แสงสว่างภายในโรงเรือนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
8. ลดความชื้นและก๊าซแอมโมเนียภยในโรงเรือนลงได้
9. เป็นการใช้แรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในโรงเรือนที่มีการให้น้ำและอาหารแบบอัตโนมัติ

โรงเรือนเลี้ยงสัตว์จัดเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญต่อวงจรการเลี้ยงสัตว์ทุกชนิด ทั้งนี้เพราะโรงเรือนเปรียบเสมือนที่อยู่ ที่หลับนอนของสัตว์ หากผู้เลี้ยงสัตว์สามารถจัดหาโรงเรือนที่เหมาะสม มีสุขลักษณะที่ดีให้กับสัตว์แล้ว สัตว์ก็จะให้ผลตอบแทนอย่างสูงสุด การสร้างโรงเรือนก็ต้องสร้างให้เหมาะสมกับชนิด พันธุ์ เพศ และอายุของสัตว์ เนื่องจากสัตว์ในแต่ละระยะต้องการโรงเรือนที่ต่างกันแต่สิ่งหนึ่งที่สัตว์ทุกชนิดต้องการเหมือนกันคือโรงเรือนที่เย็นสบาย อากาศถ่ายเทได้สะดวก แห้งและไม่เปียกชื้น
บทความจาก สาส์นไก่ ประจำเดือนมิถุนายน 2552
สงวนฟาร์ม ผู้ผลิต และจำหน่ายไข่ไก่ซีลีเนียม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ติดตาม